Potsdam Conference (1945)

การประชุมที่พอทสดัม (พ.ศ. ๒๔๘๘)

การประชุมที่พอทสดัมเป็นการประชุมของมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียตและอังกฤษ ณ พระราชวังเซซีเลียนฮอฟ (Cecilienhof) เมืองพอทสดัม ชานกรุงเบอร์ลิน ระหว่างวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ภายหลังการพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เป็นการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงในการสร้างสันติภาพของยุโรปที่สืบเนื่องมาจากการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference ๔-๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕)* โดยเฉพาะเรื่องการบริหารปกครองเยอรมนี การคำนวณค่าปฏิกรรมสงคราม การกำหนดเขตแดนตะวันตกของโปแลนด์และบทบาทของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออก หลังการประชุมสิ้นสุดลง มหาอำนาจทั้ง ๓ ชาติได้ลงนามร่วมกันในความตกลงพอทสดัม (Potsdam Agreement) นอกจากนี้ ยังมีการออกคำประกาศพอทสดัม (Potsdam Declaration) เพื่อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข แม้สหภาพโซเวียตจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าวแตกไม่ได้ร่วมลงนามด้วยเพราะยังไม่ได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

 ผู้แทนชาติมหาอำนาจที่เข้าร่วมการประชุมที่พอทสดัมคือ แฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาซึ่งรับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ที่ถึงแก่อสัญกรรม โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเรียต และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้นำพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น แต่ต่อมาหลังจากพรรคแรงงาน (Labour Party)* ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม เคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้าประชุมแทนที่เชอร์ชิลล์ก่อนเริ่มการประชุมอย่างเป็นทางการเพียง ๑ วัน ทรูแมนได้รับรายงานว่าการทดลองระเบิดปรมาณูที่เมืองลอสอะลามอส (Los Alamos) รัฐนิวเม็กซิโกประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดไว้ แม้การครอบครองระเบิดปรมาณูจะทำให้สถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาแข็งแกร่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการประชุมที่พอทสดัมมากนัก ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ทรูแมนได้แจ้งให้สตาลินทราบอย่างคร่าว ๆ เรื่องอาวุธร้ายแรงชนิดใหม่ที่สหรัฐอเมริกาคิดค้นจนสำเร็จ แต่สตาลินก็ไม่ได้ซักถามรายละเอียด ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะทราบเรื่องอาวุธร้ายแรงนี้แล้วจากการสอดแนมของสายลับโซเวียต

 ในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่ประชุมมีความคิดเห็นขัดแย้งกันอยู่หลายประเด็น แต่ก็มีอีกหลายประเด็นที่เห็นพ้องกัน เรื่องที่ที่ประชุมเห็นพ้องกันคือ ให้แบ่งเยอรมนีออกเป็น ๔ เขตตามข้อตกลงที่ยัลตาโดยอยู่ภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสอำนาจในการปกครองแต่ละเขตเป็นของผู้บัญชาการของกองกำลังยึดครองของชาตินั้น ๆ ส่วนอำนาจในการบริหารเยอรมนีโดยรวมเป็นของคณะกรรมาธิการควบคุมพันธมิตรสี่ชาติ (Allied Control Commission) ที่ยึดครองเยอรมนี ที่ประชุมมีมดิยืนยันการควบคุมเยอรมนี อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นภัยต่อความสงบสุขของโลก ทั้งยังให้มีการปลดอาวุธกองทัพเยอรมันทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีอำนาจทางการทหารอีก การประกาศให้พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* เป็นพรรคการเมืองที่ผิดกฎหมายเพื่อล้มล้างลัทธินาซี (Nazism) ให้หมดสิ้น การจับกุมผู้นำนาซีคนสำคัญและผู้สนับสนุนพรรคนาซีเพื่อพิจารณาคดีในข้อหาอาชญากรสงคราม


ตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่แนวความคิดประชาธิปไตยและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีทั้ง ๔ เขตเป็นระบบเดียวกันและยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจของบริษัทอุตสาหกรรมหรือธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อให้มีการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ ล้มเลิกอุตสาหกรรมหนักที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธและยุทธปัจจัย รวมทั้งควบคุมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำสงครามอย่างเข้มงวด เช่น อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมโลหะ ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร ฝรั่งเศสซึ่งไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายและการทำงานของคณะกรรมาธิการควบคุมพันธมิตรสี่ชาติเท่าใดนัก เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายตั้งแต่แรกเริ่ม อย่างไรก็ตาม สงครามเย็น (Cold War)* ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ก็มีส่วนทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมาธิการควบคุมพันธมิตรสี่ชาติไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

 ประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมถกเถียงกันมากคือ ปัญหาการคำนวณค่าปฏิกรรมสงคราม สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้มีปัญหาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดจากสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ซึ่งเยอรมนีถูกบังคับให้ชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามมากจนเกินความสามารถที่จะจ่ายได้ ทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลัทธินาซีขึ้นมามีอำนาจ สหรัฐอเมริกาจึงเสนอให้มีการสำรวจเศรษฐกิจพื้นฐานโดยรวมของเยอรมนีก่อนจะกำหนดค่าปฏิกรรมสงคราม หากมีการเรียกร้องมากเกินไปเยอรมนีอาจไม่สามารถชำระได้และจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจตามมา นอกจากนี้ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเยอรมนีมีความสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรปโดยรวมด้วย สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจึงเสนอการคำนวณค่าปฏิกรรมสงครามซึ่งแตกต่างไปจากที่ที่ประชุมที่ยัลตาได้กำหนดไว้อย่างคร่าว ๆ โดยสหภาพโซเวียตจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงานอุตสาหกรรมแทนผลผลิตหรือสินค้าสำเร็จรูปทั้ง ๒ ประเทศเห็นว่าเยอรมนีจำเป็นต้องมีสินค้าส่งออกเพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวได้ แต่สหภาพโซเวียตไม่พอใจหลักเกณฑ์ใหม่เพราะต้องการทั้งอุปกรณ์เครื่องจักรอุตสาหกรรมและผลผลิตหรือสินค้าสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม ในที่สุดที่ประชุมก็ตกลงกันได้โดยมหาอำนาจทั้งสี่จะได้รับ ค่าปฏิกรรมสงครามจากเยอรมนีในเขตยึดครองของตน สหภาพโซเวียตซึ่งได้รับความเสียหายจากสงครามมากที่สุด จะได้รับค่าชดเชยเพิ่มเติมจากเขตที่ชาติตะวันตกยึดครองโดยจะได้รับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนร้อยละ ๑๕ ของเครื่องจักรกลที่ไม่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจเยอรมนีในยามสงบ โดยต้องแลกเปลี่ยนกับผลิตผลทางการเกษตรและแร่ธาตุ เช่น อาหาร ถ่านหิน ไม้สัก สังกะสี จากเขตยึดครองของโซเวียต และอีกร้อยละ ๑๐ ของเครื่องจักรกลที่ไม่จำเป็นโดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนใด ๆ ปัญหาค่าปฏิกรรมสงครามจึงสะท้อนความขัดแย้งของมหาอำนาจพันธมิตรซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของปัญหาการแบ่งแยกเยอรมนี

 การกำหนดแนวพรมแดนตะวันตกของโปแลนด์ด้านที่ติดต่อกับเยอรมนีเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่โต้แย้งกันมากในที่ประชุม ในการประชุมที่ยัลตา โรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสตาลินที่ให้ใช้แนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ (Oder-Neisse Line)* ของแม่นํ้าโอเดอร์และแม่นํ้าไนส์เซอเป็นเส้นแบ่งเขตชายแดนด้านตะวันตกของโปแลนด์ เพราะจะทำให้เยอรมนีต้องสูญเสียพื้นที่ประมาณ ๒๐,๙๐๐ ตารางกิโลเมตรแก่โปแลนด์ ทั้งยังเป็นบริเวณที่มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่กว่าล้านคน อย่างไรก็ตาม หลังสหภาพโซเวียตปลดปล่อยดินแดนในยุโรปตะวันออกจากอิทธิพลของนาชีได้แล้ว ดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าโอเดอร์และแม่นํ้าไนส์เซอของเยอรมนีก็ถูกโอนให้แก่โปแลนด์ตามแผนการเดิมโดยสหภาพโซเวียตไม่ได้หารือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ส่งผลให้โปแลนด์ได้ครอบครองดินแดนส่วนหนึ่งของปรัสเซียตะวันออกและเมืองท่าดานซิก (Danzig)* หรือกดานสก์ (Gdansk)* แม้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะไม่เห็นด้วย แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องยินยอมให้แนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เชอเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างโปแลนด์กับเยอรมนีชั่วคราวจนกว่าจะมีการประชุมร่างสนธิสัญญาสันติภาพ แต่สหภาพโซเวียตและโปแลนด์ยึดถือเส้นพรมแดนดังกล่าวเป็นการถาวร การสูญเสียแหล่งอุตสาหกรรมในไชลีเซีย (Silesia) ทำให้ความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลง และการเข้าไปมีอิทธิพลในยุโรปตะวันออกของสหภาพโซเวียตก็ส่งผลให้ชาวเยอรมันถูกบังคับให้อพยพออกจากโปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* และฮังการีกว่า ๖ ล้านคน ผู้อพยพได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตยึดครองเยอรมนีส่วนที่พันธมิตรตะวันตกครอบครองและกลายเป็นภาระรับผิดชอบของพันธมิตรตะวันตก

 แม้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายเกี่ยวกับยุโรปตะวันออกของสหภาพโซเวียตหลายประเด็น แต่ก็ไม่สามารถทำให้สหภาพโซเวียตแก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ เช่น กรณีความพยายามกดดันให้สหภาพโซเวียตเพิ่มจำนวนชาวโปลที่ไม่ได้ฝักใฝ่ในระบอบคอมมิวนิสต์เข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาลของโปแลนด์ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรตะวันตกก็ยืนยันไม่ยอมรับสถานภาพรัฐบาลของบัลแกเรีย ฮังการี และโรมาเนียที่จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลก เพราะรัฐบาลของประเทศดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามคำประกาศยัลตาว่าด้วยยุโรปที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว (Yalta Declaration on Liberated Europe) สหรัฐอเมริกาประกาศชัดเจนว่าจะให้การรับรองรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ก็ต่อเมื่อมีการจัดระบบการปกครองที่เหมาะสมแล้วเท่านั้น การที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่สามารถกดดันสหภาพโซเวียตได้อย่างเต็มที่เป็นเพราะยังจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากกองทัพโซเวียตในการทำสงครามกับญี่ปุ่นในแปซิฟิก

 ในระหว่างการประชุม สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ซึ่งทำสงครามกับญี่ปุ่นในแปซิฟิกได้ร่วมกันออกคำประกาศพอทสดัมเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข มิฉะนั้นจะต้องพบกับการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ แต่ในแถลงการณ์ดังกล่าวไม่มีการกล่าวถึงระเบิดปรมาณู สหภาพโซเวียตเห็นด้วยกับแถลงการณ์ฉบับนี้แต่ไม่ได้ร่วมลงนามเพราะยังไม่ได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการและพยายามประวิงเวลาในการเข้าร่วมเพื่อให้การเจรจาตกลงผลประโยชน์ในแมนจูเรียกับจีนสำเร็จก่อน อย่างไรก็ตาม สตาลินให้สัญญาว่าจะช่วยเหลือประเทศพันธมิตรทำสงครามกับญี่ปุ่นโดยพร้อมจะทำสงครามประมาณวันที่ ๑๕ สิงหาคม สตาลินยังแจ้งให้ทรูแมนทราบถึงข้อเสนอที่ญี่ปุ่นยื่นต่อโซเวียตด้วย

 แม้การเผด็จศึกญี่ปุ่นที่ต้องอาศัยกองทัพโซเวียตหนุนช่วยจะเป็นยุทธวิธีที่จำเป็น แต่การประวิงเวลาประกาศ สงครามกับญี่ปุ่นของสหภาพโซเวียตก็ไม่ได้ทำให้สหรัฐอเมริกากังวลมากนัก เพราะคาดว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากระเบิดปรมาณูที่คิดค้นได้สำเร็จทำสงครามกับญี่ปุ่นก่อน วันที่ ๑๕ สิงหาคม หากการทิ้งระเบิดปรมาณูประสบความสำเร็จก่อนที่สหภาพโซเวียตจะเข้าร่วมสงครามก็จะปิดโอกาสไม่ให้สหภาพโซเวียตเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และขยายอิทธิพลในตะวันออกไกลโดยเฉพาะในจีนและญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อสหภาพโซเวียตเสนอให้สหรัฐอเมริกาดำเนินเรื่องร้องขออย่างเป็นทางการที่จะให้สหภาพโซเวียตเข้าร่วมทำสงครามในตะวันออกไกล สหรัฐอเมริกาจึงปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตอ้างสิทธิในการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในตะวันออกไกลมากขึ้น สหรัฐอเมริกาเสนอให้โซเวียตใข้กฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* เป็นหลักการพื้นฐานในการประกาศสงครามกับญี่ปุ่น ในที่สุด สหภาพโซเวียตก็ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในวันที่ ๘ สิงหาคม หลังจากสหรัฐอเมริกาตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกถล่มเมืองฮิโระชิมะ (Hiroshima) ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และตามด้วยระเบิดลูกที่ ๒ ที่เมืองนะงะชะกิ (Nagazaki) ในวันที่ ๙ สิงหาคม ซึ่งมีผลให้ญี่ปุ่นต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข

 ในวันที่ ๒ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมประธานาธิบดีทรูแมนขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องการกำหนดน่านนํ้าบางแห่งในยุโรปเป็นน่านนํ้าสากลเพื่อลด


ความขัดแย้งระหว่างประเทศซึ่งเป็นประเด็นที่เขาพยายามเรียกร้องและสตาลินก็ปฏิเสธมาโดยตลอด ทรูแมนชี้แจงและโต้แย้งว่าสหรัฐอเมริกายอมประนีประนอมกับสหภาพโซเวียตหลายเรื่องแล้ว สตาลินควรจะประนีประนอมด้วยการยอมรับข้อเสนอนี้เป็นการตอบแทน แต่สตาลินยังคงยืนกรานปฏิเสธและที่ประชุมก็ไม่มีการพิจารณาประเด็นนี้

 ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งสภารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Council of Foreign Ministers) ของ ๕ ชาติ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน เพื่อทำหน้าที่สานต่อนโยบายและแก้ไขปัญหาซึ่งที่ประชุมที่พอทสดัมยังไม่สามารถตกลงกันได้สภารัฐมนตรีซึ่งกำหนดการประชุมครั้งแรกในเดือนกันยายนที่กรุงลอนดอนจะทำหน้าที่ร่างสนธิสัญญาสันติภาพกับอิตาลี บัลแกเรีย ฟินแลนด์ ฮังการี และโรมาเมีย โดยจะเริ่มการเจรจากับอิตาลีก่อนชาติอื่นเพราะอิตาลีเป็นชาติแรกที่ถอนตัวจากการเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและยังสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรทำสงครามกับญี่ปุ่นด้วย รัฐบาลใหม่ของอิตาลีที่เป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงสมควรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ สภารัฐมนตรียังได้รับมอบหมายให้พิจารณาอีกหลายเรื่อง เช่น การกำหนดขั้นตอนและแนวทางการถอนกำลังทหารพันธมิตรออกจากอิหร่าน ทันทีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง การกำหนดจำนวนที่แน่นอนของค่าปฏิกรรมสงคราม และการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลของประเทศในยุโรปตะวันออก

 สหรัฐอเมริกาซึ่งมีท่าทีประนีประนอมกับสหภาพโซเวียตมากกว่าอังกฤษได้สรุปประเด็นที่มีการอภิปราย โต้แย้งกันในการประชุมที่พอทสดัมเป็นข้อเสนอสำคัญ ๓ ข้อ คือ หลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าปฏิกรรมสงคราม การแบ่งเขตแดนด้านตะวันตกของโปแลนด์ และการเลือกตั้งรวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศในยุโรปตะวันออก มีการนำเสนอหลัก ๓ ประการต่อสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม หากสหภาพโซเรียตยอมรับข้อเสนอข้อหนึ่งข้อใดจะถือว่าเป็นการยอมรับข้อเสนอทั้งหมด เจมส์ ไบรนส์ (James Brynes) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้แจ้งต่อ เวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพโซเวียตว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นการประนีประนอมมากที่สุดเท่าที่สหรัฐอเมริกาจะยอมให้ได้ หลังจากพิจารณาข้อเสนอแล้ว สหภาพโซเวียตได้ขอเพิ่มปริมาณของเครื่องจักรและอุปกรณ์ โรงงานอุตสาหกรรมที่จะได้รับจากเยอรมนีโนส่วนที่พันธมิตรตะวันตกยึดครอง อังกฤษคัดค้านเพราะเห็นว่าตัวเลขที่กำหนดไว้เหมาะสมแล้ว แต่สหรัฐอเมริกาก็ยอมเพิ่มให้จากร้อยละ ๑๕ เป็นร้อยละ ๒๕ ตามที่โซเวียตต้องการ สหภาพโซเวียตจึงยอมรับข้อเสนอทั้งหมดและนำไปสู่การลงนามในความตกลงพอทสดัมในที่สุด

 ความตกลงพอทสดัมซึ่งเป็นเอกสารสรุปผลการประชุมเป็นความตกลงที่วางกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติไว้อย่างกว้าง ๆ ทำให้มีการตีความหมายที่หลากหลายและกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความตกลงล้มเหลวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ลันสุดลง เมื่อเกิดภาวะสงครามเย็นระหว่าง ๒ ชาติอภิมหาอำนาจในยุโรปขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๗.



คำตั้ง
Potsdam Conference
คำเทียบ
การประชุมที่พอทสดัม
คำสำคัญ
- การประชุมที่พอทสดัม
- การประชุมที่ยัลตา
- คณะกรรมาธิการควบคุมพันธมิตรสี่ชาติ
- ความตกลงพอทสดัม
- คำประกาศพอทสดัม
- คำประกาศยัลตาว่าด้วยยุโรปที่ได้รับการปลดปล่อยแล้ว
- เชโกสโลวะเกีย
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ทรูแมน, แฮร์รี เอส
- บัลแกเรีย
- ไบรนส์, เจมส์
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคอนุรักษนิยม
- มหาอำนาจพันธมิตร
- โรมาเนีย
- ลัทธินาซี
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สหประชาชาติ
- แอตต์ลี, เคลเมนต์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1945
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-